วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ข้อสอบ วิชาการจัดการนวัตกรรมและสารสนเทศ

ข้อสอบวิชา การจัดการนวัตกรรมและสารสนเทศ
หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต การบริหารการศึกษา รุ่น 8
.............................................................................
โดย
นายณัชธพงศ์ พวงงาม เลขที่ 9
ป.บัณฑิต การบริหารการศึกษา รุ่น 8
.............................................................................

1. ท่านสามารถประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศในองค์กรของท่านได้อย่างไร บอกกรอบความคิด ขั้นตอน
ผลกระทบให้เห็นกระบวนการคิดของท่านทั้งระบบ

ตอบ กรอบความคิด ในหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ คือ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการดอนคลัง อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี มีการนำระบบ สารสนเทศ มาประยุกต์ใช้ในองค์กร โดยมีการนำระบบคอมพิวเตอร์เครือข่ายมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน และในการบริหารงาน 4 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหารวิชาการ ฝ่ายบริหารทั่วไป ฝ่ายบริหารงานบุคคลและฝ่ายบริหารงบประมาณ ซึ่งสามารถประยุกต์ระบบสารสนเทศในแต่ละส่วนงานโดยมีกรอบ แนวคิด ขั้นตอนและผลกระทบ ดังนี้
ในการจัดการเรียนการสอน มีการนำระบบคอมพิวเตอร์เครือข่ายและอินเทอร์เน็ตมาช่วยในการเรียนการสอน เช่น การใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน การสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงระบบบริหารงานห้องสมุด เป็นต้น
ฝ่ายบริหารวิชาการ มีการนำระบบสารสนเทศมาจัดทำฐานข้อมูลวิชาการ งานทะเบียนวัดผล
เพื่อจัดเก็บข้อมูลนักเรียนข้อมูลรายวิชาที่เปิดสอนและนักเรียนลงทะเบียน จัดตารางสอน การกรอกผลการเรียนและคำนวณผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ตลอดจนการจัดทำสารสนเทศทางวิชาการของโรงเรียน เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายด้านวิชาการของโรงเรียน ต่อไป
ฝ่ายบริหารงานทั่วไป มีการนำระบบสารสนเทศ มาใช้ในการจัดการงานสารบรรณ มีการใช้ระบบเครือข่ายในการแชร์อุปกรณ์เพื่อใช้งานร่วมกัน มีการรับส่งหนังสือผ่านระบบอินเทอร์เน็ต กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาราชบุรี เขต 2 มีการจัดทำเว็บไซต์เพื่อประชาสัมพันธ์และเป็นสื่อกลางระหว่าง โรงเรียนกับผู้ปกครอง และบุคคลทั่วไป
ฝ่ายบริหารงานบุคคล มีการจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนประวัติ ข้าราชการครู ครูอัตราจ้าง และลูกจ้างประจำ ซึ่งทำให้ผู้บริหารทราบข้อมูลด้านงานบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นจำนวนบุคลากรแต่ละประเภท วันเข้ารับราชการ วันเกษียณอายุราชการ ประวัติการเลื่อนขั้น เป็นต้น
ฝ่ายบริหารงบประมาณ มีการนำระบบสารสนเทศมาใช้ในการ บริหารงานการเงิน พัสดุ และจัดทำสารสนเทศของโรงเรียน มีการนำสารสนเทศมาใช้เพื่อประกอบการวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณของโรงเรียน
ขั้นตอน
1. ประชุมคณะกรรมการบริหารโรงเรียน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและขอความเห็นชอบและร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ ในการนำระบบสารสนเทศมาใช้ในการบริหารโรงเรียน
2. ประชุมครูชี้แจงเพื่อให้บุคลากรรับทราบนโยบายและเห็นความสำคัญของการใช้สารสนเทศในการบริหารงานขององค์กรในด้านต่าง ๆ
3. จัดทำแผนการใช้สารสนเทศส่วนงานต่าง ๆ เพื่อให้ทราบว่าส่วนงานใดจะใช้สารสนเทศด้านใด เพื่อจะได้ทราบว่าส่วนงานใดสามารถใช้ฐานข้อมูลเดียวกันได้บ้าง เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการปฏิบัติงาน
4. ออกแบบการจัดทำฐานข้อมูลของแต่ละส่วนงาน เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ข้อมูล
5. จัดการอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ในการใช้งานระบบสารสนเทศขององค์กร
6 . ทดลองใช้ และปรับปรุง
จากกรอบความคิดและขั้นตอนในการจัดการระบบสารสนเทศข้างต้น จะเห็นได้ว่าระบบสารสนเทศสามารถนำมาใช้ในการบริการจัดการงานด้านต่างๆ ของโรงเรียน เพื่อความเป็นระเบียบในการจัดเก็บข้อมูล เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการค้นหาและประมวลผล เพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายได้รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์
แต่ในการใช้งานระบบสารสนเทศของหน่วยงานภาครัฐ ยังขาดการเชื่อมโยงและมีการทำงานซ้ำซ้อนอยู่มาก โดยในแต่ละกระทรวงมีการจัดทำฐานข้อมูลเป็นของตนเอง แต่ไม่มีการแชร์ฐานข้อมูล เพื่อลดการเก็บและกรอกข้อมูลที่ซ้ำซ้อน ซึ่งบ่อยครั้งเจ้าหน้าที่ในระดับผู้ปฏิบัติงานต้องจัดทำ กรอกข้อมูลประเภทเดียวกันหลายๆครั้ง ส่งให้กับหน่วยงานต้นสังกัด กรม กอง ต่างๆ แทนที่จะจัดทำ Data Center ของภาครัฐ และให้กระทรวง ทบวง กรม ใช้ฐานข้อมูลร่วมกัน จะเกิดประโยชน์และลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานลงไปได้มาก
--------------------------------------
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำแผนแม่บทด้านไอซีที (ICT) ฉบับที่ 2 ของรัฐบาลไทย จงสังเคราะห์ความรู้จากแผนแม่บทมาเป็นอรรถาธิบายให้แจ้งชัด
ตอบ เห็นด้วยกับแผนแม่บทด้าน ICT ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2552 – 2556) ของรัฐบาลไทย เพราะจากการศึกษารายละเอียดประเด็นยุทธศาสตร์ ของแผนแม่บทด้านไอซีที (ICT) ฉบับที่ 2 พบว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาและยกระดับความสามารถด้าน ICT เพื่อแข่งขันกับโลกที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งในส่วนภาคการศึกษา และบุคลากรในสาขาวิชาชีพอื่นๆ รวมไปจนถึงการสร้างความเสมอภาค ในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้ประชากรทุกส่วนในสังคม มีการบริหารจัดการระบบ ICT ระดับชาติอย่างมีธรรมาภิบาล โดยมีการจัดให้มีหน่วยงานกลางในการผลักดัน และขับเคลื่อนแผนแม่บทไปสู่การปฏิบัติ มีการนำระบบ ICT มาใช้ในกระบวนการบริหารงานงบประมาณ ทั้งในด้านการจัดทำ เสนองบประมาณ และกระบวนการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง ให้เอื้อต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
การพัฒนาโครงข่ายพื้นฐานด้าน ICT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงเครือข่าย เพื่อรองรับการยกระดับการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบท
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารเพื่อสนับสนุนการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารและการบริการภาครัฐ มีการกำหนดกรอบนโยบาย เกี่ยวกับข้อมูลที่จำเป็น และมีมาตรฐานสอดคล้องในมาตรฐานสากลเพื่อรองรับการใช้งานฐานข้อมูลร่วมกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ ในการลดกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
มีการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรม ICT ทั้งในด้านเงินทุนและมาตรฐานสินค้าและบริการ ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม ICT
การใช้ ICT ในการสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันที่ยั่งยืน ส่งเสริมภาคการผลิตให้มีความสามารถยกระดับการนำICT มาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงวิสาหกิจชุมชนในICT เพื่อเปิดการค้าสู่ในตลาดโลกที่ไร้พรมแดน
กล่าวโดยสรุป แผนแม่บทด้าน ICT ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2552 – 2556) ของรัฐบาลไทย จะเปิดประตูสู่ยุคใหม่ที่ไร้พรมแดน ทั้งในภาครัฐและประชาชน ลดขั้นตอนการทำงาน การจัดสรรงบประมาณได้ตรงตามความต้องการของประชาชน ลดช่องว่างในการรับรู้ข่าวสาร การศึกษา ของประชาชน เพิ่มศักยภาพและช่องทางใหม่ๆ ในการแข่งขันทางธุรกิจ ทั้งในระดับ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไปจนถึงขนาดเล็ก
--------------------------------------
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการใช้กระบวนการทางกฎหมาย (กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550) เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมในสังคมจากการใช้คอมพิวเตอร์หรือเครือข่าย อินเตอร์เน็ทเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด จงอภิปรายถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องให้เห็นเป็นรูปธรรม
ตอบ เห็นด้วยกับเห็นด้วยกับการใช้กระบวนการทางกฎหมาย (กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550) เนื่องจากปัจจุบันการใช้งานคอมพิวเตอร์ รวมถึงเครือข่ายได้ง่ายต่อการเข้าถึง และยากต่อการตรวจสอบ โดยขอสรุปประเด็นที่สำคัญ ๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
มาตรา 26 ผู้ให้บริการ เช่น ISP หรือเว็บไซต์ ให้เก็บข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ในส่วนที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับ งาน ของตนเท่านั้น ไว้อย่างน้อย 90 วัน แต่ในกรณีจำเป็นเจ้าหน้าที่สั่งให้เก็บเพิ่มได้แต่ไม่เกิน 1 ปี เช่น ข้อมูลมาตรฐาน ข้อมูล ข้อมูลคอมพิวเตอร์ การจัดเก็บ log file (ประมาณ access log) แต่ ถ้าเป็นเว็บบอร์ด การจัดเก็บ IP ก็เพียงพอแล้วในกรณีนี้หากผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตาม มีโทษ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท อย่างไรก็ตามกรณีที่ต้องเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการนั้น ในที่ประชุมได้มีการชี้แจงและอธิบายว่า การเก็บนั้นเป็นเพื่อให้สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ คือ การเก็บ IP address หรือ จัดให้ มีการ Log in ถือว่าเป็นมาเป็นมาตรการการป้องกันและใช้ได้ตาม พ.ร.บ. นี้ ซึ่งใน พ.ร.บ. นี้ ไม่ได้บังคับให้ต้องเก็บ เลขบัตรประจำตัวประชาชน
- เจ้าของระบบคอมพิวเตอร์ไม่ให้เข้าระบบคอมพิวเตอร์ของเขา แล้วเราแอบเข้าไป มีโทษ จำคุก ไมเกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 10,000 บาท (มาตรา 5)
- แอบ ไปรู้วิธีการเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น แล้วนำไปเผยแพร่ให้คนอื่นๆรู้ มีโทษ จำคุกไมเกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท (มาตรา 6)
- ข้อมูล ของผู้อื่น ซึ่งเก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ดี ๆ แล้วแอบไปล้วงของหรือลักลอบเอามา (ขโมย) มีโทษจำคุกไมเกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท (มาตรา 7)
- ผู้อื่นส่งข้อมูลหากันผ่านเครือข่าย คอมพิวเตอร์แบบส่วนตัว แล้วไปดักจับข้อมูลของเขา มีโทษจำคุกไมเกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท (มาตรา 8)
- ข้อมูลของผู้อื่นอยู่ในระบบ คอมพิวเตอร์ของเขาดี ๆ หากผู้ใดมือบอนไปทำให้เสียหาย เปลี่ยนแปลง แก้ไข มีโทษจำคุกไมเกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มาตรา 9)
- ระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นทำงานอยู่ดี ๆ หากผู้ใดยิง packet หรือ message หรือ virus หรือ trojan หรือ worm เข้าไปก่อกวนจนระบบผู้อื่นเสียหาย มีโทษจำคุกไมเกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มาตรา 10)
- หากผู้อื่นไม่ได้ อยากได้ข้อมูลหรืออีเมล์จากเรา เราก็ทำการเซ้าซี้ส่งให้เขาซ้ำ ๆ (โดยปกปิดหรือปลอมแหล่งที่มา) จนทำให้เขาเบื่อหน่ายรำคาญ มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มาตรา 11)
- ถ้าผู้ใดทำผิดตามมาตรา 9 กับ มาตรา 10. แล้วมันสร้างความเสียหายแก่ประชาชน ไม่ว่าทันทีหรือไม่ มีโทษจำคุกไมเกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท (มาตรา 12 (1))
- หากผู้ใดสร้างซอฟต์แวร์เพื่อช่วยให้บุคคลอื่นหรือตน ๆ ทำเรื่องแย่ ๆ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 5 ถึงมาตรา 11 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไมเกิน 20,000 บาท (มาตรา 13)
- ผู้ใดกระทำความผิด เช่น ปลอมแปลงข้อมูล ทั้งหมดหรือบางส่วน (phishing), แสดงข้อความอันเป็นเท็จ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของชาติ ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจ เช่นการ ส่งเมล์เรื่องการก่อการร้าย (ไปต่อ ต่อ กัน), โป๊, โกหก, ท้าทายอำนาจรัฐ มีโทษจำคุกไมเกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มาตรา 14)
- ผู้ให้บริการ จงใจ ยินยอม ให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ก็ได้รับโทษเช่นกัน คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- ผู้ใดส่งภาพ การตัดต่อ ดัดแปลง ส่งต่อภาพผู้อื่น หรือข้อความ ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกียดชัง อับอาย จำคุกไมเกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท (มาตรา 16) แต่อย่างไรก็ตามหาก เป็นการกระทำไปโดยสุจริต เช่นไม่ทราบถึงการดัดแปลงภาพ นั้นว่ามีมาก่อน ผู้กระทำไม่มีความผิด
ผู้ใดทำผิดที่เว็บไซต์ซึ่งอยู่เมืองนอก แต่ถ้าเราเป็นคนไทย หรือมีสัญชาติไทย ก็ผิดตาม พ.ร.บ. นี้
- ผู้กระทำความผิด (หมายถึง ผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการ ตามคำพระราชบัญญัตินี้) หากเป็น คนต่างด้าวรัฐบาลไทย หรือ ผู้เสียหายที่เป็นคนไทยสามารถร้องขอให้ลงโทษได้
สรุปได้ว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่เข้าไปดำเนินการกับผู้กระทำความผิดที่ได้กระทำความผิดขึ้น ผลของกฎหมายฉบับนี้ ทำให้หลายฝ่ายต้องมีการปรับตัวกันอย่างหนัก โดยเฉพาะเจ้าพนักงานตามกฎหมายที่จะต้องดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จำนวนมากมาย เราต้องไม่ลืมว่า ในขณะนี้ มีมนุษย์ที่อยู่ในโลกออนไลน์จำนวนมาก นั่นหมายความว่า เรากำลังเผชิญกับจำนวนของบุคคลบนอินเตอร์เน็ตจำนวนมากมาย ประกอบกับรูปแบบของการใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่มีวิธีการหลากหลายมากขึ้น กระบวนการไล่จับแบบตำรวจไล่จับขโมยนั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่ยืนบนความยากมากขึ้นกฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่บังคับกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์หลังจากเกิดการ กระทำความผิดเกิดขึ้น และเพื่อให้เกิดผลการทำงานที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นที่จะต้องสร้างกฎหมายและนโยบายเพื่อสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้เพิ่มเติม โดยเฉพาะในส่วนของการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเผ้าระวังสื่อ ออนไลน์ และแจ้งเหตุไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อลดปัญหาการด้านจำนวนและพฤติกรรมของการกระทำความผิด คงต้องเร่งสร้างกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้เกิดจริยธรรมที่ดีในการใช้อินเตอร์เน็ต ซึ่งคงต้องรีบส่งสัญญาณไปยังกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวัฒนธรรม ที่จะร่วมกันพัฒนากฎเกณฑ์และนโยบายเชิงรูปธรรมในการปลูกฝังจริยธรรมที่ดีในการใช้อินเตอร์เน็ต หมายความว่า เราต้องเร่งสร้างการจัดการให้ผู้ที่จะทำความผิดได้ตระหนักก่อนที่ลงมือกระทำ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ทั้ง เว็บไซต์ลามกอนาจาร การดูหมิ่น หมิ่นประมาท การใช้เข้าถึงข้อมูล ระบบ เครือข่ายโดยมิชอบ ซึ่งจะเพิ่มรูปแบบและวิธีการที่ซับซ้อนมากขึ้น

.............................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น